พิธีขึ้นบ้านใหม่มักทำเมื่อย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ โดยมีการทำพิธีสงฆ์เพื่อเสริมสิริมงคลให้เจ้าของบ้าน

15 ก.ย. 2566 12:00 น.

เตรียมพิธีขึ้นบ้านใหม่นับจากศูนย์ บอกทุกขั้นตอนตั้งแต่หาฤกษ์

การมีบ้านหลังใหม่ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจ ที่ใส่อยู่ในเช็คลิสต์การวางแผนชีวิตของใครหลายคน การย้ายเข้ามาอยู่บ้านใหม่ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญอีกครั้ง คนไทยเลยต้องใส่ใจเป็นพิเศษและให้ความสำคัญกับพิธีขึ้นบ้านใหม่ที่อยู่คู่คนไทยมานาน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เราอยู่เย็นเป็นสุขตลอดการอยู่อาศัย หากจะทำให้พิธีนี้ราบรื่นไม่มีสะดุดก็อาจต้องอาศัยการวางแผนและการเตรียมการกันสักหน่อย

พิธีขึ้นบ้านใหม่

การทำพิธีขึ้นบ้านใหม่มักทำเมื่อมีการย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ เพราะเชื่อว่าจะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับเจ้าของและผู้อยู่อาศัย ให้เจริญรุ่งเรือง รักใคร่ปรองดอง ป้องกันภยันตราย และขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน ซึ่งจะจัดเป็นงานบุญใหญ่หรือทำกันเล็กๆ เฉพาะคนสำคัญในครอบครัวก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเจ้าของบ้านเอง โดยทำพิธีกันภายใน 1 วัน และนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน 

หาฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่

แน่นอนว่าจะทำงานใหญ่ทั้งทีก็ต้องดูฤกษ์ดูยามกันก่อนตามความเชื่อของคนไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ ฤกษ์ก็คือเวลาที่จะอำนวยความเป็นสิริมงคล ความสำเร็จสมประสงค์ให้แก่ผู้ประกอบการ การขึ้นบ้านใหม่เองก็ต้องมีฤกษ์ งานจะได้ราบรื่นและเชื่อว่าทำให้ชีวิตเจ้าของบ้านหลังจากนี้ราบรื่นตามไปด้วย การหาฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่จึงเป็นขั้นตอนแรกของการวางแผนทำบุญ โดยอาจจะไปขอฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่จากพระอาจารย์ที่เลื่อมใส หรือหากเจ้าของมีเชื้อสายจีนก็อาจจะไปปรึกษาซินแสด้วยก็ได้

แต่บางทีสมัยนี้ถ้าไม่ได้คิดมาก ก็สามารถหาฤกษ์ได้จากข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต แค่เสิร์ชหาในกูเกิ้ลว่า “ฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่” ก็มีข้อมูลขึ้นมาให้เพียบจากหลากหลายสำนัก บางแห่งก็จะให้เป็นวันที่มาเลย หรือบางแห่งก็จะดูตามดวงวันเกิดของเจ้าของบ้าน ช่วยให้รู้ว่า วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ วันไหนเหมาะแก่การย้ายเข้าบ้านใหม่ หรือวันไหนควรเลี่ยงบ้าง

ขั้นตอนประกอบพิธีขึ้นบ้านใหม่

เมื่อได้ฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่เรียบร้อย ต่อไปก็ถึงคราวที่เจ้าของบ้านต้องมาตระเตรียมพิธีให้พร้อม ขั้นตอนหลักๆ มีดังนี้

  1. นิมนต์พระสงฆ์ โดยให้ไปแจ้งรายละเอียดล่วงหน้าก่อน อย่างน้อย 5 วัน เช่น จัดที่ไหน เมื่อไร มีรถไปรับหรือไม่ โดยมากนิยมนิมนต์เป็นจำนวนเลขคี่ โดยเฉพาะ 9 รูป เพราะเชื่อว่าเป็นเลขมงคล แต่ทั้งนี้ก็ให้ดูตามความเหมาะสมของสถานที่ด้วย 
  2. จัดเตรียมสถานที่ ทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย เช็คความพร้อมของโต๊ะหมู่บูชาและเครื่องนมัสการ เช่น แจกันดอกไม้ กระถางธูป เชิงเทียน ผ้าขาว และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในพิธีสงฆ์ เช่น เสื่อปูรอง ให้โยงสายสิญจน์จากพระพุทธรูป วนขวา รอบตัวบ้าน แล้วกลับมาพันรอบบาตรน้ำมนต์หน้าพระพุทธรูป
  3. จัดเตรียมอาหาร สำหรับถวายอาหารเช้าหรืออาหารเพล ควรประกอบไปด้วยอาหารคาว อาหารหวาน เครื่องดื่ม และผลไม้มงคล เช่น กล้วย มะพร้าว แก้วมังกร ทับทิม ส้ม เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะนำความเป็นสิริมงคลมาให้แก่ชีวิต
  4. อัญเชิญพระพุทธรูปเข้าบ้าน มักจะให้ผู้อาวุโสผู้ชาย เช่น คุณปู่ คุณตา คุณพ่อ เป็นคนเชิญพระพุทธรูปนำไปวางบนหิ้งพระ ให้เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยคนอื่นเดินตามเข้าบ้าน
  5. ทำพิธีสงฆ์ ให้เลือกตัวแทนเป็นพิธีกรในการกล่าวนำบทสวด เช่น อาราธนาศีล 5 อาราธนาพระปริตร จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ เจ้าภาพถวายอาหาร ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ให้พร แล้วนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูปไปเจิมและประน้ำพระพุทธมนต์ที่ประตูบ้าน กราบลาพระสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธี

การขึ้นบ้านใหม่เป็นพิธีกรรมที่ทำกันมาหลายยุคหลายสมัย ช่วยเสริมสิริมงคลให้เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัย เมื่อเราลงทุนไปกับบ้านหลังใหม่แล้ว ก็ควรใส่ใจกับรายละเอียดของการวางแผนขึ้นบ้านใหม่ด้วย ตั้งแต่การหาฤกษ์มงคลไปจนถึงการทำพิธีสงฆ์ หากเตรียมตัวมาอย่างดีก็จะทำให้ทุกอย่างราบรื่น รวมไปถึงเพิ่มความสบายใจให้ผู้อยู่อาศัยด้วย