ในการกู้ซื้อบ้าน คนทำงานฟรีแลนซ์ต้องเตรียมตัวกว่าพนักงานประจำเพราะมีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้ธนาคารต้องตรวจละเอียด

29 ก.ย. 2566 09:00 น.

ฟรีแลนซ์ต้องอ่าน ถ้าอยากยื่นกู้ซื้อบ้านให้ผ่านราบรื่น

ข้อดีของการซื้อบ้านเป็นของตัวเองนั้นมีมากมาย ใครๆ ไม่ว่าสาขาอาชีพไหนก็ฝันอยากมีบ้าน ซึ่งสำหรับคนที่มีเงินก้อนไม่มากพอ ก็คงต้องพึ่งการกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร แต่กับคนทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์อาจเสียเปรียบกว่าพนักงานประจำหน่อยตรงที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้ธนาคารต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาอนุมัติปล่อยสินเชื่อมากเป็นพิเศษ และร้องขอเอกสารเพื่อตรวจสอบค่อนข้างละเอียด ดังนั้น นอกจากการเตรียมตัวก่อนกู้ซื้อบ้านโดยทั่วไปแล้ว ผู้กู้ซื้อบ้านที่ทำงานฟรีแลนซ์อาจต้องลงแรงเตรียมการเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย เพื่อให้การยื่นกู้ซื้อบ้านราบรื่นไม่ติดขัด

1. รวบรวมเอกสารประกอบการยื่นกู้

เอกสารสำหรับการยื่นกู้ซื้อบ้านให้กับธนาคารใช้พิจารณานั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้

เอกสารพื้นฐาน ได้แก่

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • ใบเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล/ทะเบียนสมรส/ใบหย่า (ถ้ามี)
  • บัญชีเงินเดือนหรือบัญชีรายรับ/รายการเดินบัญชีเงินฝาก (Statement) ย้อนหลัง 6-12 เดือน
  • ใบจองซื้อ/สำเนาโฉนดที่ดิน (กรณีผู้กู้ยื่นด้วยตนเอง ไม่ผ่านโครงการ)

เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับกลุ่มทำงานฟรีแลนซ์ ได้แก่

  • Statement แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง อย่างน้อย 4-6 เดือน ซึ่งธนาคารจะใช้เพื่อตรวจสอบรายรับ ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้กู้ยื่นบัญชีที่ใช้ในการรับโอนค่าจ้าง หากรับจากหลายบัญชีก็ควรรวบรวมมายื่นให้ครบ เพื่อที่ธนาคารจะได้เห็นรายรับโดยรวมทั้งหมด
  • แบบยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ซึ่งฟรีแลนซ์จะเข้าข่ายผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เอกสารนี้มีไว้เพื่อแสดงหลักฐานการเสียภาษีตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยยืนยันว่าเรามีรายได้จริง แนะนำให้เก็บเอกสารนี้ย้อนหลังประมาณ 2-3 ปี
  • ใบเสร็จรับเงินชำระภาษีประจำปี หลังจากชำระภาษีแล้ว เราจะได้รับใบเสร็จรับเงินค่าภาษีที่จ่ายไป ซึ่งสามารถสั่งพิมพ์ออนไลน์จากเว็บไซต์กรมสรรพากรได้เลย แต่หากเกิน 1 ปี ให้ไปขอคัดที่สำนักงานกรมสรรพากรในพื้นที่ภูมิลำเนา
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ใบ 50 ทวิ) เอกสารที่ฟรีแลนซ์คุ้นเคยกันดี เพราะนายจ้างจะออกให้หลังจากจ่ายเงินให้เรียบร้อยแล้ว โดยแสดงจำนวนเงินค่าจ้างและยอดภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยปกติอยู่ที่อัตรา 3% ซึ่งควรเก็บเอกสารนี้ไว้อย่างน้อย 6 เดือน
  • ใบสัญญาจ้างงาน หากผู้ว่าจ้างมีการออกเอกสารในรูปแบบสัญญาจ้างหรือข้อตกลงต่างๆ ที่อาจระบุระยะเวลาจ้างงานเอาไว้ ก็ให้เก็บไว้ยื่นด้วย เพราะเป็นการแสดงถึงรายได้ที่แน่นอนได้เหมือนกัน
  • เอกสารอื่นๆ เช่น ใบแจ้งหนี้ ใบเสนอราคาที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รูปถ่ายผลงาน หรือเอกสารแสดงลักษณะขอบเขตงาน เพื่อช่วยยืนยันถึงแหล่งรายได้ให้มีน้ำหนักมากพอ

2. จ่ายภาษีและยื่นแบบครบถ้วนอย่าให้ขาด

การจ่ายภาษีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเราต้องยื่นแบบภาษีให้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดในทุกปี จากนั้นให้เก็บเอกสาร ภ.ง.ด.90 และใบเสร็จเอาไว้ ย้อนหลังอย่างน้อย 2-3 ปี เพื่อเตรียมไว้ยื่นกับธนาคาร

3. แสดงให้เห็นวินัยในการออม

ผู้กู้ซื้อบ้านที่เป็นฟรีแลนซ์ควรมีเงินฝากเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอและควรมีเงินเหลือติดบัญชี อาจเป็นบัญชีที่ใช้รับเงินค่าจ้างหรือจะต่างบัญชีก็ได้ ทางที่ดีควรยื่น statement ทุกบัญชีที่มีเงินเข้า เพื่อให้ธนาคารเห็นถึงศักยภาพและวินัยด้านการเงินของเรา

4. เผยสินทรัพย์อื่นๆ ที่มี

หากผู้กู้ซื้อบ้านมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นๆ ด้วย เช่น ที่ดิน รถยนต์ บ้าน ร้านค้า รวมไปถึงประกันและพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ก็สามารถนำหลักฐานมายื่นประกอบการพิจารณาได้เช่นกัน

5. ยื่นกู้ร่วม

หากเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะถูกธนาคารปฏิเสธด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะมีรายได้น้อย ติดเครดิตบูโร หรือติดเงื่อนไขบางอย่าง แนะนำให้ใช้วิธีกู้ร่วมแทน โดยอาจจะเป็นเครือญาติหรือสามีภรรยาก็ได้ เพื่อให้ธนาคารเห็นว่ามีคนมาช่วยรับผิดชอบอีกคน โดยต้องแสดงเอกสารทางการเงิน รวมถึงบุคคลนั้นต้องมีรายได้ที่แน่นอนและตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน

ใครที่ทำงานฟรีแลนซ์ก็ลองนำคำแนะนำ 5 ข้อข้างต้นไปใช้ดู แม้อาจจะต้องเสียเวลาเตรียมเอกสารมากหน่อย แต่ก็น่าจะทำให้ธนาคารเชื่อมั่นพอที่จะปล่อยสินเชื่อบ้านให้กับเราได้ง่ายขึ้น