การจัดบ้านช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้ในหลายด้าน ให้ลองทำตาม 4 ขั้นตอนนี้แล้ว บ้านจะกลับมามีระเบียบขึ้นอีกครั้ง
2 ก.ย. 2566 21:00 น.

4 ขั้นตอนจัดบ้าน เปลี่ยนจากรกให้เป็นระเบียบ
บ่อยครั้งที่เรามักหยิบของมาใช้แล้วเก็บไม่เป็นที่หรือบางทีก็หน้ามืดเอฟของออนไลน์เข้ามาเนืองๆ มารู้ตัวอีกทีก็มีของวางเกลื่อนเต็มบ้านแล้ว ครั้นจะให้ลุกมาจัดบ้านก็ยากเหลือเกิน มักผัดวันประกันพรุ่งไปวันอื่นเสมอ ด้วยเหตุผลมากมาย อย่างการไม่มีเวลา หรือไม่บางทีก็มีของวางอยู่เยอะเกินไป จนไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนดี สุดท้ายเลิกล้มความตั้งใจแล้วปล่อยไว้แบบเดิมดีกว่า
บ้านที่รกรุงรังนั้นนอกจากจะมองไม่สบายตาแล้ว ยังส่งผลกระทบกับสภาวะจิตใจเราด้วย มีนักจิตวิทยารายงานว่าห้องที่รกมีผลให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลของเราสูงขึ้นจนเกิดเป็นความเครียดโดยไม่รู้ตัว หรือโต๊ะทำงานที่เต็มไปด้วยข้าวของวางระเกะระกะก็มักทำให้เราหลุดโฟกัสจากงานตรงหน้าไปได้ง่ายๆ
การจัดบ้านถือเป็นกิจกรรมครอบครัวที่มีประโยชน์ มันจะช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากการที่ร่างกายหลั่งสารโดปามีนหรือสารความสุขออกมา บ้านที่เป็นระเบียบทำให้เราหาของได้สะดวกหยิบง่าย ลดความเครียดและประหยัดเวลาเราได้ นอกจากนี้ การจัดบ้านได้สำเร็จยังสร้างความภูมิใจ รู้สึกถึงชัยชนะ และมีแรงที่จะเอาชนะความขี้เกียจเพื่อมาทำกิจกรรมอื่นที่ท้าทายกว่า นอกจากความรู้สึกทางใจแล้ว บ้านที่สะอาดยังช่วยให้เรามีสุขภาพดี จากการไม่มีแหล่งสะสมของเชื้อโรคหรือฝุ่นภายในบ้าน
การจัดบ้านไม่ใช่เพียงหยิบของออกมาปัด กวาด เช็ด ถู เสร็จแล้วเก็บเข้าที่เดิม เพราะนี่เป็นแค่การทำความสะอาด ซึ่งปล่อยไว้สักพักก็มีโอกาสกลับมารกเหมือนเดิม จึงอยากให้ลองจัดบ้านตาม 4 ขั้นตอนด้านล่าง แล้วบอกลาบ้านรกรุงรังได้อย่างถาวร
1. รื้อของออกมากองรวมกัน
เริ่มต้นการจัดบ้านด้วยการหยิบของที่วางเกลื่อนออกมากองรวมกัน เพื่อเปิดพื้นที่ว่างให้กับบ้าน ขั้นตอนนี้จะทำให้เราพอเห็นภาพและวางแผนการจัดบ้านได้ง่ายขึ้น แนะนำให้เริ่มรื้อของไปทีละส่วน อย่าเพิ่งเอาออกมาทั้งหมดในทีเดียวไม่เช่นนั้นอาจมีท้อได้ ยกตัวอย่าง หากเก็บห้องครัวก็ให้เริ่มจากตู้เย็นหรือตู้เก็บของก่อน ส่วนห้องนอนก็อาจเริ่มจากพื้นที่ที่ใช้บ่อยไล่ไปตามลำดับ เช่น เตียงนอน โต๊ะข้างเตียง ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น
2. คัดสิ่งของที่ไม่ได้ใช้
นิสัยขี้เสียดายมักเป็นตัวการทำให้เราสะสมข้าวของเกินจำเป็นและสุดท้ายกลายเป็นบ้านรก ของที่เรารื้อออกมาจากขั้นตอนที่แล้วมีทั้งที่ยังใช้อยู่และไม่ได้ใช้แล้วอยู่ด้วยกัน หน้าที่เราคือแยกออกมาให้ได้ ของที่ไม่มีประโยชน์กับเราก็ต้องตัดใจทิ้ง นำไปบริจาค หรือขายต่อ ยกเว้นว่าของชิ้นนั้นจะมีมูลค่าทางใจ บรรจุความทรงจำดีๆ ในอดีตเอาไว้ ก็ให้เก็บในที่เหมาะสม เผื่อวันหนึ่งเราอยากจะหยิบออกมาให้นึกย้อนเรียกความสุขเก่าๆ ในอดีตกลับมา
3. จัดหมวดหมู่ให้สิ่งของ
เหตุที่เราหาของไม่เจอก็เพราะมันอยู่กระจัดกระจายเต็มบ้าน ดังนั้น ให้จัดสิ่งของที่รื้อออกมาแยกตามหมวดหมู่ ยกตัวอย่างตู้เสื้อผ้า ก็ให้แยกเสื้อผ้า กางเกง ชุดชั้นใน ออกจากกัน หากใช้ร่วมกันหลายคนก็แยกพื้นที่ให้ชัดไม่ปะปนกัน หรืออาจจะลองจัดหมวดหมู่ตามทฤษฎีของมาริเอะ คนโดะ ที่แบ่งของออกเป็น 5 ประเภทก็ได้ ได้แก่ เสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร ของจิปาถะ และของที่มีคุณค่าทางใจ
4. จัดลำดับความสำคัญ
เมื่อสิ่งของเหล่านั้นอยู่ตามหมวดหมู่ที่ชัดเจนแล้ว ก็ให้จัดวางตามลำดับความสำคัญ ของที่ใช้งานบ่อยให้เก็บในพื้นที่ที่หยิบสะดวก ส่วนของที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน นานๆ ทีจะหยิบมาใช้ก็อาจเก็บไว้พื้นที่ด้านใน การจัดบ้านตามขั้นตอนนี้จะทำให้เราหยิบจับของได้คล่อง ไม่ต้องรื้อค้นจนยุ่งเหยิงอีกครั้ง
เมื่อจัดบ้านตาม 4 ขั้นตอนนี้แล้ว บ้านที่ดูรกก็จะกลับมามีระเบียบอีกครั้ง แต่เราต้องสร้างนิสัยการจัดเก็บคู่กันไปด้วย เพื่อจะได้ไม่กลับมารกอีก สุดท้ายบ้านก็จะกลายเป็นที่ที่น่าอยู่ ปลอดโปร่งโล่งสบาย ทำให้ทุกคนในบ้านผ่อนคลายไปด้วย
