การวางแผนเตรียมตัวก่อนกู้ซื้อบ้านจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ธนาคารและมีโอกาสอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
29 ก.ย. 2566 09:00 น.

4 เทคนิคเตรียมตัวก่อนกู้ซื้อบ้าน จนธนาคารไม่อยากปฏิเสธ
ความฝันของคนเราส่วนใหญ่ก็มักจะต้องมีบ้านหลังใหม่รวมอยู่ในแผนชีวิตด้วย หลายคนอยากซื้อบ้านเป็นของตัวเอง แต่ติดที่มีเงินก้อนไม่มากพอ การยื่นกู้ซื้อบ้านจึงมักเป็นทางเลือกสำคัญเพื่อให้เรามีบ้านได้โดยไม่ต้องรอนานหลายปี แต่การอนุมัติปล่อยกู้ซื้อบ้านนั้นก็ไม่ได้ง่าย ธนาคารเองก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดหนี้เสีย การวางแผนแต่เนิ่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราได้รวบรวม 4 เทคนิคการเตรียมตัวก่อนยื่นกู้ซื้อบ้านเอาไว้ เพื่อให้ธนาคารกระตือรือร้นอยากปล่อยกู้ ดังนี้
1. ประเมินศักยภาพการเงินของตนเอง
ปัจจัยหลักสำหรับการยื่นกู้ซื้อบ้านคือผู้ขอสินเชื่อต้องมีรายได้ โดยรายได้นี้จะถูกนำไปคำนวณเป็นความสามารถในการผ่อนบ้านและวงเงินกู้ ตามลำดับ
ความสามารถในการผ่อนบ้าน ธนาคารจะคำนวณจากภาระหนี้ต่อรายได้ก่อน ซึ่งจะต้องไม่เกิน 40% ของรายได้
ยกตัวอย่าง รายได้ 50,000 บาทต่อเดือน ก็ควรจะมีภาระหนี้อยู่ที่ 50,000 x 40% = 20,000 บาท
แต่ภาระหนี้ 20,000 ที่ว่านี้เหมารวมหนี้ทั้งหมดที่ต้องผ่อนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนโทรศัพท์ และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนที่เหลือหลังหักหนี้เหล่านี้ออกแล้วถึงจะเป็นความสามารถในการผ่อนบ้านของเรา เช่น หากยังต้องผ่อนรถทุกเดือน เดือนละ 8,000 บาท เราก็จะมีความสามารถในการผ่อนบ้านกับธนาคารอยู่ที่ 20,000 – 8,000 = 12,000 บาท
จากนั้น ตัวเลขนี้ก็จะถูกนำไปคำนวณต่อเพื่อหายอดวงเงินกู้ซื้อบ้าน โดยใช้สูตรตามด้านล่าง
(1,000,000 ÷ 7,000) x ความสามารถผ่อนชำระบ้าน = วงเงินกู้ซื้อบ้าน
จากตัวอย่างข้างต้น เราก็จะกู้ซื้อบ้านได้ในวงเงิน (1,000,000 ÷ 7,000) x 12,000 = 1,714,285 บาท
ทีนี้พอเรารู้วงเงินมาเบื้องต้น ก็พอจะทำให้มีตัวเลขราคาในใจสำหรับการเลือกบ้านที่เหมาะสมตรงตามความสามารถเราแล้ว
2. เริ่มออมเพื่อเงินดาวน์
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะทำควบคู่ไปกับการเลือกซื้อบ้านก็คือการวางแผนออมเงินล่วงหน้าสำหรับเป็นค่าดาวน์บ้าน เพราะมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารอาจปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้านไม่เต็ม 100% จากราคาบ้าน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของมาตรการซื้อบ้านของภาครัฐที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และหากกู้ได้ไม่ถึง 100% ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเราในการที่จะต้องหาเงินสดมาจ่ายโดยตรงกับโครงการบ้านจัดสรร
เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับส่วนนี้ด้วยการเก็บออมและปรับนิสัยการใช้จ่าย และอย่าลืมว่านอกจากค่าบ้านแล้ว ยังมีค่าอื่นๆ ตามมามากมายที่ต้องใช้เงิน เช่น ค่าเฟอร์นิเจอร์ ค่าจดมิเตอร์น้ำและไฟ ค่าส่วนกลาง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำสัญญาและการโอนอีก
3. เดินบัญชีธนาคารให้ตัวเลขดูมั่นคง
ในขั้นตอนการกู้ซื้อบ้าน ธนาคารจะขอดูบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้ควรมีเงินคงเหลือไว้ในบัญชี และหากมีรายได้เข้ามาก็ควรจะโอนเข้ามาในบัญชีนี้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเงินเข้ามาแล้วก็ไม่ควรเบิกออกในทันที ให้ทยอยนำออกมาใช้และเหลือเงินติดบัญชีไว้บ้างในทุกเดือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ธนาคารในศักยภาพทางการเงินของเรา
4. ชำระหนี้ตรงเวลา รักษาเครดิตตัวเอง
อีกอย่างที่ธนาคารจะนำมาพิจารณาด้วยคือเครดิตบูโร ซึ่งเค้าจะเก็บประวัติการชำระหนี้ของเราย้อนหลัง 3 ปี หากพบว่ามีประวัติการชำระหนี้ไม่ตรงเวลา ก็เสี่ยงที่ธนาคารจะปฏิเสธการปล่อยกู้ ดังนั้น หากมีรายการผ่อนชำระสินค้าก็ควรจ่ายต่อเนื่องตรงเวลาเพื่อรักษาเครดิตเอาไว้
นอกจากนี้ ก่อนยื่นกู้ เราควรเคลียร์หนี้ต่างๆ ให้หมดหรือให้เหลือน้อยที่สุด เพราะธนาคารจะพิจารณาทั้งรายรับและภาระค่าใช้จ่ายประกอบกัน ตามที่พูดถึงในข้อ 1 ซึ่งจะกระทบไปถึงวงเงินกู้ซื้อบ้านด้วย
อีกเทคนิคหนึ่งที่แนะนำคือการปิดบัตรเครดิตที่ไม่จำเป็น หากมีมากกว่า 1 ใบ ธนาคารจะเพ่งเล็งแล้วว่าอาจมีโอกาสสร้างหนี้เกินตัวในภายหลัง และอาจมีแนวโน้มไม่อนุมัติสินเชื่อบ้านได้ ดังนั้น ควรขอยกเลิกบัตรที่ไม่จำเป็น และเหลือไว้ใช้เพียง 1-2 ใบเท่านั้น
หากใครมีแผนกู้ซื้อบ้านในอนาคต ก็ต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ เพราะจะเห็นว่าหลายข้อก็ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานหลายเดือน แต่ถ้าหากจะทำให้ธนาคารอนุมัติปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้นและทำให้เราใช้ชีวิตแบบไม่ต้องเป็นกังวลนัก ก็คุ้มที่จะลงแรงตั้งแต่ตอนนี้